วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“เกษตรกรรม ขุมทรัพย์ใหญ่ตลาดแรงงานไทย”

สวัสดีครับ มาถึงฉบับนี้ ผมอยากจะชี้แจงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรมกันบ้าง เนื่องจากผมได้ฟังนักวิชาการหลายท่านที่พูดถึงเกี่ยวกับแรงงานภาคเกษตรกรรมโดยไม่ค่อยให้ความสำคัญ บ้างบอกว่าภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศน้อย เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับจากภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ดังนั้นควรจะสนับสนุนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ บ้างก็อ้างว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนโครงสร้างแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ ดังนั้นอนาคตประเทศไทยแรงงานด้านเกษตรกรรมควรจะลดลง โดยบางท่านได้ทำนายว่าต่อจากนี้แรงงานภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยจะลดลงทุกๆปี ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งจะขัดแย้งกับการจ้างงานจริงซึ่งมีการจ้างแรงงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2549

ผมอยากจะขอชี้แจงก่อนเลยว่า ในปี 2551 ประเทศไทยมีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมสูงถึง 14.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 39.7 จากการจ้างงานทั้งหมด 37.0 ล้านคน ส่วนการจ้างงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม มีจำนวน 14.5 ล้านคน และ 7.8 ล้านคน ตามลำดับ จะเห็นว่าแรงงานภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นแรงงานหลักของประเทศ ถึงแม้ว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของภาคเกษตรกรรมจะน้อยมากเพียง 3.9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท และ1.9 ล้านล้านบาท ตามลำดับ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก (Global Economics Crisis) จะเห็นว่าแรงงานของไทยไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก โดยอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เฉลี่ยทั้งปีมีค่าเพียงร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.5 ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับปกติของประเทศไทย ซึ่งผิดกับการคาดการณ์ในตอนต้นที่คาดว่าแรงงานไทยจะตกงานถึง 2 ล้านคน เหตุผลส่วนหนึ่งที่ผลกระทบต่อการว่างงานของประเทศไทยไม่รุนแรงนัก เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งแรงงานจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่มียอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องลดการผลิต และอาจจะต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนจากภาคอุตสาหกรรมต้องกลับภูมิลำเนาและประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรในช่วงภาวะที่ยังหางานไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถดูดซับผู้ว่างงานและเป็นเสมือนกันชนอย่างดีต่อพี่น้องแรงงานเนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆมากนัก แรงงานสามารถประกอบอาชีพต่อได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรกรรมยังเป็นแหล่งรองรับอย่างดีของผู้ที่ตกงานจากภาคผลิตต่างๆที่อยู่ระหว่างรอการจ้างงาน ผมจะไม่ขอเถียงเลยครับ ถ้าจะมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของประเทศไทยอาจจะเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของแรงงานไทยได้ เนื่องจากโรงงานบางแห่งไม่จำเป็นต้องเลิกจ้าง โรงงานบางแห่งสามารถลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างได้ ตัวเลขอัตราการว่างงานจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในส่วนนี้ผมอยากจะให้เห็นประโยชน์ของแรงงานในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น
อีกประการหนึ่งที่อยากจะให้ทุกๆท่านเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรม คือในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)[1]  ซึงหมายถึง สังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 7 ของประชากรรวม หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรรวม โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นภาวะที่ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงสูงขึ้น และประชากรวัยแรงงานลดลง โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนถึงร้อยละ 7.5 และมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนถึงร้อยละ 11.1 และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 14.5[2] ซึ่งแสดงถึงประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)[3] โดยผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ในปี 2551 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังมีงานทำจำนวน 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 61.2 ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำทั้งหมด จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังสามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตรได้มากกว่าด้านการผลิตอื่นๆ อีกทั้งยังมีการคาดว่าในอนาคตแนวโน้มประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี ซึ่งถือเป็นแรงงานหลักจะมีสัดส่วนการจ้างงานในระดับที่ต่ำ กว่าสัดส่วนการจ้างงานเฉลี่ย[4] และมีแนวโน้มการจ้างงานในผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจะเป็นภาคการผลิตที่สำคัญยิ่งในการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในอนาคต
ดังนั้นคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรกรรมยังคงมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานไทย และแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุ โดยการจ้างงานแรงงานในภาคเกษตรกรรมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมต่อการจ้างงานทั้งหมดจะลดลง และแรงงานภาคบริการจะมีความต้องการแรงงานมากเป็นอันดับ 1 ในอนาคตก็ตาม[5] ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือพี่น้องแรงงานได้หันมาเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรมของไทยด้วย แม้ว่าการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมจะไม่สามารถสร้างรายได้ให้มากมายเมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพในภาคการผลิตอื่นๆ แต่ถ้าท่านยึดการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะทราบว่าการประกอบอาชีพด้านการเกษตรจะสามารถทำให้ท่านดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และยังสามารถเป็นเกราะป้องกันภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  อย่าลืมนะครับตอนนี้เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เมื่อเศรษฐกิจประเทศหนึ่งเริ่มเกิดวิกฤตมันย่อมต้องส่งผลกระทบไปถึงประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการพึ่งพาตนเองของแรงงานภาคเกษตรกรรมน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้อีก ซึ่งไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ยังมีข่าวสารตลาดแรงงานให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามโดยท่านสามารถเข้ามาดูได้ที่ http://www.doe.go.th/lmi_new  แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ




[1] ตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ  (United Nations: UN)
[2] เป็นการประมาณการประชากร โดยใช้ข้อสมมุติภาวะเจริญพันธุ์ปานกลาง (Medium Fertility Assumption)  จากรายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กันยายน 2551)
[3] Aged Society หมายถึง สังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มสัดส่วนขึ้นไปสู่ระดับมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรรวม
[4] ในปี 2551 ประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี มีจำนวน 37.4 ล้านคนและมีการจ้างงานโดยรวมจำนวน 37.0 ล้านคน ในปี 2557 คาดว่าประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี จะมีจำนวนประมาณ 36.9 ล้านคน และกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้คาดว่าจะมีการจ้างงานโดยรวมในปี 2557 ถึง 41.1 ล้านคน
[5] รายละเอียดอยู่ในรายงานผลการศึกษา แนวโน้มความต้องการแรงงาน ในช่วงปี 2553-2557 กองวิจัยตลาดแรงงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ISBN: 978-616-555-014-7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น