วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจต่อค่าจ้างแรงงานทั่วโลก

ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจต่อค่าจ้างแรงงานทั่วโลก

สวัสดีครับ วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงานฉบับนี้ ผมขอนำรายงานค่าจ้างแรงงานทั่วโลก ประจำปี พ.ศ. 2551/52 (Global Wage Report 2008/09) ของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) มาสรุปอย่างสั้นๆ เพื่อให้ทุกๆท่าน ได้เห็นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลกระทบต่อค่าแรงของลูกจ้างอย่างพวกเราอย่างไรบ้าง



จากรายงานของ ILO นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2551 ได้มีผล ต่อการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าให้มีความเคลื่อนไหวในช่วงที่กว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าจ้างแท้จริง (Real Wage) ของลูกจ้างจำนวนมากมีค่าลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำ ILO ยังได้วิเคราะห์ค่าจ้างในปี พ.ศ. 2552 ว่า ค่าจ้างได้มีค่าลดลงประมาณ 0.5% ในประเทศอุตสาหกรรม และ ค่าจ้างโดยรวมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.1% ซึ่งรายงานได้แย้งกับการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund; IMF) ซึ่งประมาณการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ว่า ในปี พ.ศ. 2552 ค่าจ้างของประเทศอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 0.1% และ ค่าจ้างทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7% ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลเลวร้ายต่อค่าจ้างแรงงานกว่าที่ IMF ได้ประมาณการมากนัก


รายงานฉบับนี้ยังได้แสดงแนวโน้มค่าจ้างแรงงาน ระหว่างปี พ.ศ.2538-2550 ด้วยว่า


• อัตราการเจริญเติบโตของค่าจ้างในประเทศต่างๆอยู่ในค่าที่ต่ำ โดยอัตราการเจริญเติบโตของค่าจ้างอยู่ในเกณฑ์อัตราไม่เกิน 1.9% ต่อปี โดยอัตราการเจริญเติบโตของค่าจ้างในประเทศภูมิภาคเอเชียมีค่าประมาณ 1.7% ต่อปี
• อัตราการเจริญเติบโตของค่าจ้างมีค่าต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) กล่าวคือ ค่าความยืดหยุ่นของค่าจ้างต่อGDP น้อยกว่า 1 โดยค่าความยืดหยุ่นของค่าจ้างโดยเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ.2538-2550 มีค่าประมาณ 0.75 ซึ่งหมายความว่า ทุกๆ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น 1% ค่าแรงจะเพิ่มขึ้น 0.75% แต่ค่าความยืดหยุ่นของค่าจ้างมีค่ามากกว่า 1 ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย กล่าวคือ โดยเฉลี่ยทุกๆ อัตราการเจริญเติบโตของGDPลดลง 1% ค่าจ้างแรงงานจะลดลง 1.55%
• ความไม่เท่าเทียมกันของอัตราค่าจ้างมีค่าสูงขึ้น โดยระยะห่างของค่าจ้าง ระหว่างลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างสูง กับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำ มีช่องว่างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศ อาเจนตินา จีน และไทย เป็นต้น

จากแนวโน้มแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเศรษฐกิจของประเทศ และค่าจ้างแรงงาน ว่ามีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง ในช่วงที่เศรษฐกิจดี อัตราการเจริญเติบโตของ GDP มีค่าเป็นบวก อัตราการเจริญเติบโตของค่าแรงมีค่าสูงไม่เท่าอัตราการเจริญเติบโตของ GDP แต่เมื่อประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ค่าจ้างแรงงานกลับมีผลกระทบในแง่ลบที่เลวร้ายกว่า GDP เพราะฉะนั้นพี่น้องแรงงาน จึงควรรู้จักออม เพื่อให้พร้อมเตรียมรับกับสภาพเศรษฐกิจในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังไม่คงที่ ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้หรือไม่ การรู้จักออม และการไม่ใช้จ่ายเกินตัว เป็นสิ่งที่ทุกคนควรนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในอนาคต การเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เติบโต อยู่ตลอดเวลา และเพื่อเพิ่มระดับค่าจ้าง โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารตลาดแรงงาน ได้จากกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ถนนมิตรไมตรี กรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2246 7870 หรือติดต่อที่ http://www.doe.go.th/lmi_new
(อ้างอิงจาก Global Wage Report 2008/09 ISBN 978-92-2-121499-1: International Labour Organization, http://www.ilo.org/)

ลงในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำเดือนตุลาคม ปี 2552 และข่าวสารตลาดแรงงานภาคกลาง ประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น