วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“เมื่อแรงงานกำลังจะเคลื่อนย้ายอย่างเสรี”

สวัสดีครับ มาถึงฉบับนี้ ผมอยากจะประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ซึ่งถูกต้องตามหลัก 4 Freedoms ของสหภาพยุโรป (European Union) ประการแรก คือ จะต้องมีเสรีในการค้าสินค้า (Free Flow of Goods) ประการที่สอง ต้องมีการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ (Free Flow of Services) ประการที่สาม มีเสรีในการเคลื่อนย้ายทุน (Free Flow of Capital) และประการสุดท้าย ต้องมีเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Free Flow of Labours) ถึงแม้ประการสุดท้ายจะยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังมีการจำกัดในเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labour) ต้องยอมรับนะครับว่าการเคลื่อนย้ายเสรีทางด้านแรงงาน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างสูงในการจะให้เสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยสมบูรณ์
                ในบทความนี้ผมจะขอกล่าวเน้นแค่ในเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีด้านแรงงานฝีมือ โดยAECได้กำหนดจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ด้านคุณสมบัติในสาขาอาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย นักวิชาชีพ แรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษได้อย่างเสรี โดยปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำ MRAs ใน 7 สาขาอาชีพด้วยกัน คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และบริการบัญชี โดยในขณะนี้ยังคงมีการพิจารณาหารือเพื่อเพิ่มจำนวนสาขาอาชีพให้มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยในอนาคต แต่ขณะนี้แรงงานไทยยังมีโอกาสเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องๆเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ควรติดตามข่าวสารในการเคลื่อนย้ายเสรีทางด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับน้องๆในอนาคต
                การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีย่อมส่งผลต่อตลาดแรงงานไทยโดยตรง โดยเฉพาะอุปทานของแรงงานย่อมมีการเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของแรงงานฝีมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน และการออกไปของแรงงานฝีมือไทยที่จะไปสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ผมอยากจะให้ข้อคิดแก่พี่น้องแรงงานซึ่งอาจจะสนใจในการไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการแรงงานมากขึ้นทุกๆปี[1] ขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะมีประชากรวัยแรงงานลดลง และมีประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงเพิ่มสูงขึ้น หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีการขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นแรงงานที่มีฝีมือจึงไม่น่าจะมีปัญหาการตกงาน ตรงกันข้ามโอกาสในการมีงานทำจะเพิ่มมากขึ้น หากมีความลังเลใจว่าจะเลือกทำงานในประเทศดี หรือจะเลือกไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนดี สิ่งที่ผมอยากจะฝากเป็นข้อคิดเพื่อช่วยในการตัดสินใจ คือขอให้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) ของการไปทำงานต่างประเทศก่อน
ผมขอแบ่งต้นทุนในการทำงานต่างประเทศเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ต้นทุนแจ้งชัด (Explicit Cost) คือต้นทุนที่มีการจ่ายจริงอันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มของสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในประเทศไทย ค่าเช่าที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เพิ่มขึ้นจากการไปอยู่ต่างประเทศ 2) ต้นทุนไม่แจ้งชัด (Implicit Cost) คือค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเงินออกไปจริง หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกว่า ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) คือการเสียสิทธิต่างๆเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ เช่น การพิจารณาเลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งอาจได้สิทธิน้อยกว่าพลเมืองของประเทศนั้น  การอยู่ห่างไกลจากครอบครัว ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจในการไปทำงานต่างประเทศ
นอกจากต้นทุนแล้วท่านควรพิจารณาถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการประกอบอาชีพในต่างแดนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น รายได้ที่อาจมากกว่าในการประกอบอาชีพในประเทศ ประสบการณ์ที่จะได้รับจากการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ฯลฯ ผมคงไม่อาจตัดสินใจให้พี่น้องว่าทำงานในประเทศ หรือทำงานต่างประเทศดีกว่ากัน เพราะต้นทุนและผลประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล (Subjective) ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคลนั้นๆให้ความสำคัญมากน้อยต่างกัน แต่ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสใช้ชีวิตในต่างประเทศนานพอสมควร และเคยต้องตัดสินใจว่าจะกลับมาประกอบอาชีพในประเทศไทย หรือทำงานในต่างประเทศมาแล้วนั้น สิ่งที่ผมอยากให้พี่น้องคำนึงคือความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) ประกอบการตัดสินใจด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทย และเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งเป็นแรงงานที่ประเทศมีความต้องการสูง อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยจะมีการขาดแคลนแรงงาน ผมอยากให้ท่านเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยที่จะได้รับจากท่าน ซึ่งเป็นแรงงานที่มีฝีมือมาช่วยกันพัฒนาประเทศ และป้องกันสมองไหลออกนอกประเทศ ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับย่อมมีมากมายมหาศาล ประเทศของเราจะสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตนะครับ
ผู้ที่สนใจข่าวสารตลาดแรงงานต่างๆ สามารถติดตามผลงานของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้ที่ http://www.doe.go.th/lmi เจอกันใหม่ฉบับหน้าครับ
 
 
ลงในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำเดือนมีนาคม  ปี 2553


[1] จากรายงานผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการแรงงานในช่วงปี 2553-2557 ของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ความต้องการแรงงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกๆปี ในทุกภาคการผลิต

“เกษตรกรรม ขุมทรัพย์ใหญ่ตลาดแรงงานไทย”

สวัสดีครับ มาถึงฉบับนี้ ผมอยากจะชี้แจงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรมกันบ้าง เนื่องจากผมได้ฟังนักวิชาการหลายท่านที่พูดถึงเกี่ยวกับแรงงานภาคเกษตรกรรมโดยไม่ค่อยให้ความสำคัญ บ้างบอกว่าภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศน้อย เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับจากภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ดังนั้นควรจะสนับสนุนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ บ้างก็อ้างว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนโครงสร้างแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ ดังนั้นอนาคตประเทศไทยแรงงานด้านเกษตรกรรมควรจะลดลง โดยบางท่านได้ทำนายว่าต่อจากนี้แรงงานภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยจะลดลงทุกๆปี ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งจะขัดแย้งกับการจ้างงานจริงซึ่งมีการจ้างแรงงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2549

ผมอยากจะขอชี้แจงก่อนเลยว่า ในปี 2551 ประเทศไทยมีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมสูงถึง 14.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 39.7 จากการจ้างงานทั้งหมด 37.0 ล้านคน ส่วนการจ้างงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม มีจำนวน 14.5 ล้านคน และ 7.8 ล้านคน ตามลำดับ จะเห็นว่าแรงงานภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นแรงงานหลักของประเทศ ถึงแม้ว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของภาคเกษตรกรรมจะน้อยมากเพียง 3.9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท และ1.9 ล้านล้านบาท ตามลำดับ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก (Global Economics Crisis) จะเห็นว่าแรงงานของไทยไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก โดยอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เฉลี่ยทั้งปีมีค่าเพียงร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.5 ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับปกติของประเทศไทย ซึ่งผิดกับการคาดการณ์ในตอนต้นที่คาดว่าแรงงานไทยจะตกงานถึง 2 ล้านคน เหตุผลส่วนหนึ่งที่ผลกระทบต่อการว่างงานของประเทศไทยไม่รุนแรงนัก เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งแรงงานจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่มียอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องลดการผลิต และอาจจะต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนจากภาคอุตสาหกรรมต้องกลับภูมิลำเนาและประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรในช่วงภาวะที่ยังหางานไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถดูดซับผู้ว่างงานและเป็นเสมือนกันชนอย่างดีต่อพี่น้องแรงงานเนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆมากนัก แรงงานสามารถประกอบอาชีพต่อได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรกรรมยังเป็นแหล่งรองรับอย่างดีของผู้ที่ตกงานจากภาคผลิตต่างๆที่อยู่ระหว่างรอการจ้างงาน ผมจะไม่ขอเถียงเลยครับ ถ้าจะมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของประเทศไทยอาจจะเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของแรงงานไทยได้ เนื่องจากโรงงานบางแห่งไม่จำเป็นต้องเลิกจ้าง โรงงานบางแห่งสามารถลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างได้ ตัวเลขอัตราการว่างงานจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในส่วนนี้ผมอยากจะให้เห็นประโยชน์ของแรงงานในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น
อีกประการหนึ่งที่อยากจะให้ทุกๆท่านเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรม คือในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)[1]  ซึงหมายถึง สังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 7 ของประชากรรวม หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรรวม โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นภาวะที่ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงสูงขึ้น และประชากรวัยแรงงานลดลง โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนถึงร้อยละ 7.5 และมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนถึงร้อยละ 11.1 และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 14.5[2] ซึ่งแสดงถึงประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)[3] โดยผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ในปี 2551 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังมีงานทำจำนวน 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 61.2 ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำทั้งหมด จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังสามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตรได้มากกว่าด้านการผลิตอื่นๆ อีกทั้งยังมีการคาดว่าในอนาคตแนวโน้มประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี ซึ่งถือเป็นแรงงานหลักจะมีสัดส่วนการจ้างงานในระดับที่ต่ำ กว่าสัดส่วนการจ้างงานเฉลี่ย[4] และมีแนวโน้มการจ้างงานในผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจะเป็นภาคการผลิตที่สำคัญยิ่งในการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในอนาคต
ดังนั้นคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรกรรมยังคงมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานไทย และแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุ โดยการจ้างงานแรงงานในภาคเกษตรกรรมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมต่อการจ้างงานทั้งหมดจะลดลง และแรงงานภาคบริการจะมีความต้องการแรงงานมากเป็นอันดับ 1 ในอนาคตก็ตาม[5] ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือพี่น้องแรงงานได้หันมาเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคเกษตรกรรมของไทยด้วย แม้ว่าการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมจะไม่สามารถสร้างรายได้ให้มากมายเมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพในภาคการผลิตอื่นๆ แต่ถ้าท่านยึดการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะทราบว่าการประกอบอาชีพด้านการเกษตรจะสามารถทำให้ท่านดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และยังสามารถเป็นเกราะป้องกันภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  อย่าลืมนะครับตอนนี้เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เมื่อเศรษฐกิจประเทศหนึ่งเริ่มเกิดวิกฤตมันย่อมต้องส่งผลกระทบไปถึงประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการพึ่งพาตนเองของแรงงานภาคเกษตรกรรมน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้อีก ซึ่งไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ยังมีข่าวสารตลาดแรงงานให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามโดยท่านสามารถเข้ามาดูได้ที่ http://www.doe.go.th/lmi_new  แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ




[1] ตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ  (United Nations: UN)
[2] เป็นการประมาณการประชากร โดยใช้ข้อสมมุติภาวะเจริญพันธุ์ปานกลาง (Medium Fertility Assumption)  จากรายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กันยายน 2551)
[3] Aged Society หมายถึง สังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มสัดส่วนขึ้นไปสู่ระดับมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรรวม
[4] ในปี 2551 ประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี มีจำนวน 37.4 ล้านคนและมีการจ้างงานโดยรวมจำนวน 37.0 ล้านคน ในปี 2557 คาดว่าประชากรในวัยแรงงานที่มีอายุ 15-49 ปี จะมีจำนวนประมาณ 36.9 ล้านคน และกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้คาดว่าจะมีการจ้างงานโดยรวมในปี 2557 ถึง 41.1 ล้านคน
[5] รายละเอียดอยู่ในรายงานผลการศึกษา แนวโน้มความต้องการแรงงาน ในช่วงปี 2553-2557 กองวิจัยตลาดแรงงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ISBN: 978-616-555-014-7