วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“อิทธิพลของฤดูกาลต่อตลาดแรงงานไทย”

ช่วงนี้ความรุ่มร้อนต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนอบอ้าว หรือบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนระอุกำลังจะเปลี่ยนไปจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน และเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไปพฤติกรรมของคนเราก็เปลี่ยนไปด้วย ในขณะที่ตลาดแรงงานก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ตลาดแรงงานเป็นตลาดก็มี การเคลื่อนไหวที่เป็นฤดูกาล (Seasonality) ด้วยเช่นกัน ตลาดแรงงานของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานของต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการทำงานของแรงงานไทยกระจายไปใน 3 ภาคการผลิต ซึ่งได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยในปี 2552 แรงงานไทยมีงานทำทั้งหมดจำนวน 37.7 ล้านคน โดยแบ่งเป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรมจำนวน 14.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 39.0 การทำงานในภาคอุตสาหกรรม 7.8 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 20.8 และสุดท้ายการทำงานในภาคบริการ 15.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40.3 จะเห็นได้ว่าแรงงานไทย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและเกษตรกรรม


การที่แรงงานของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ทำให้แรงงานไทยมีการไหลเข้า-ไหลออกจากภาคการผลิตหนึ่งไปอีกภาคการผลิตหนึ่งอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากแผนภูมิที่ 1 ซึ่งแสดงการไหลเข้า-ไหลออกของแรงงานไทยในปี 2551 และปี 2552 ซึ่งปรากฏว่าแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงานค่อนข้างมาก โดยการเคลื่อนย้ายของแรงงานนี้อาจจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง โดยมีภาคเกษตรกรรมเป็นตัวแปรสำคัญในการแสดงค่าดัชนีฤดูกาล (Seasonal Index) ซึ่งได้แก่ ช่วงที่ 1 คือฤดูที่ว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะเป็นช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนมกราคม ถึงเมษายน โดยแรงงานจะย้ายออกจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ช่วงที่ 2 คือ ช่วงเพาะปลูกพืชพันธุ์ภาคเกษตรกรรม โดยช่วงนี้จะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม หรืออาจกล่าวได้ว่าช่วงนี้คือช่วงคาบเกี่ยวในการเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน แรงงานจะเริ่มเคลื่อนย้ายจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไปสู่ภาคเกษตรกรรม ส่วนช่วงที่ 3 คือช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งช่วงเวลานี้คือฤดูฝนโดยเริ่มจากเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เกษตรกรบางส่วนสามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ในช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ 4 นั้นเป็นช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตภาคเกษตรกรรม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี แรงงานจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมอีกครั้งหนึ่งเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ในช่วงเวลานี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวด้วยซึ่งจะทำให้แรงงานในภาคบริการบางส่วนไม่กลับสู่ภาคเกษตรกรรมมากเท่าที่ควร เพราะหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแรงงานในภาคเกษตรกรรมจะเคลื่อนย้ายสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นตลาดแรงงานของประเทศไทยจะมีการเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร (Cyclical Movement) อยู่เช่นนี้เรื่อยไป

แผนภูมิที่ 1 การไหลเข้า-ไหลออกของแรงงานไทยในปี 2551 และในปี 2552



ถึงแม้ว่าตลาดแรงงานมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเนื่องจากอิทธิพลของฤดูกาลแล้วจำนวนแรงงานที่เคลื่อนย้ายในแต่ละช่วงนั้นค่อนข้างมาก โดยมีจำนวนประมาณ 2-4 ล้านคน สิ่งนี้อาจทำให้นักวิชาการหลายคน มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ว่างงานที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน แต่การเคลื่อนย้ายแรงงานดังกล่าวกลับไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ว่างงานมากนัก โดยถ้าสภาพตลาดแรงงานเป็นปกติการเคลื่อนย้ายแรงงานตามฤดูกาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ว่างงานอยู่ในช่วงแค่ 1-2 แสนคนเท่านั้น และอัตราการว่างงานจะเกิดเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 0.5 เท่านั้น แผนภูมิที่ 2 แสดงจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในปี 2551 และในปี 2552 ซึ่งปรากฏว่าจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานไม่ค่อยได้รับผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานมากนัก จำนวนผู้ว่างงานยังมีการเคลื่อนไหวในวงแคบ แต่ในปี 2552 จำนวนผู้ว่างงานมีการเคลื่อนไหวในวงที่กว้างขึ้น เนื่องจากมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้มีการเลิกจ้างจำนวนมากในต้นปี 2552 และจำนวนผู้ว่างงานลดลงอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานนั้นขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ การเคลื่อนย้ายแรงงานเนื่องจากฤดูกาลไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อการว่างงานและอัตราการว่างงานของประเทศมากนัก

แผนภูมิที่ 2 จำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในปี 2551 และในปี 2552





การที่ตลาดแรงงานของประเทศไทยมีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและ ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการว่างงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี และประเทศต่างๆในโลกไม่ค่อยมีปรากฏการเช่นนี้ เนื่องจากแรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายจากภาคการผลิตหนึ่งไปสู่ภาคการผลิตหนึ่งโดยไม่กระทบต่ออัตราการว่างงาน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของประเทศนั้นมีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสูง การที่ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูงทำให้ตลาดมีความสามารถที่จะรองรับความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจได้ดี โดยจะเห็นได้จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะมีจำนวนผู้ว่างงานถึงกว่า 2 ล้านคน แต่ความเป็นจริงตลาดสามารถปรับตัวทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานสูงสุดแค่ 8 แสนกว่าคนและตลาดสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีการขาดแคลนแรงงานเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นนอกจากความสัมพันธ์ของฤดูกาลกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นสิ่งที่เกิดคู่กันในตลาดแรงงานแล้ว ตลาดแรงงานไทยยังสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลได้อย่างดีอีกด้วย แล้วท่านล่ะเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนฤดูกาลบ้างหรือยังครับ

ท้ายที่สุดขอประชาสัมพันธ์แนะนำกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ให้ท่านที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตลาดแรงงานได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยท่านสามารถเข้ามาดูได้ที่ http://www.doe.go.th/lmi

ลงในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำไตรมาสที่ 4  ปี 2552