วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำไมต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท? และข้อเสนอในการดำเนินการ

อาจกล่าวว่าได้ว่าประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับด้านแรงงานมากที่สุดในขณะนี้ คงหลีกไม่ได้กับเรื่อง นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน โดยเรื่องนี้มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ให้การสนับสนุนหรือไม่ก็ให้การคัดค้านในนโยบายนี้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเหตุผลหลักในการคัดค้านคือ ถ้ามีการนำนโยบายนี้ไปใช้จริง ผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะ SMEs จะต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว การส่งออกจะลดลงเนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นแบบทวีคูณ (Multiply Inflation) แรงงานต่างด้าวจะไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
ในฐานะนักวิชาการ ผู้เขียนอยากจะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้


1) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ตามหลักวิชาการนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage) คือ อัตราค่าจ้างที่ต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรฐานชีวิตของลูกจ้างและลดความยากจน[1] โดยปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ภูเก็ต วันละ 221 บาท รองลงมาคือในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันละ 215 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดวันละ 159 บาทในจังหวัดพะเยา โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 175.8 บาท ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยในปัจจุบันยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับการใช้จ่ายตามอัตภาพและยังคงต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับการใช้จ่ายตามคุณภาพอีกด้วย[2] โดยเครือข่ายแรงงานได้เสนอค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมควรจะอยู่ที่ 421 บาท/วัน ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรมีการปรับให้เพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอาจจะใช้ผลิตภาพของแรงงานไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา
 
2) ค่าจ้างขั้นต่ำควรครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 มีแนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจากสภาพความเป็นจริงแล้วจะเห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต้องรับภาระในการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย เพราะฉะนั้นการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)  ได้เสนอแนะว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรตั้งอยู่บนพื้นฐานถึงความสามารถของแรงงานในการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย[3]
 


[2] ที่มาจาก: “ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ซึ่งเขียนโดย สมศจี ศิกษมัต หัวหน้านักวิจัยอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และวรุตม์ เตชะจินดา (นักศึกษาฝึกงาน) โดยการใช้จ่ายตามอัตภาพ คือรายจ่ายในรายการที่จำเป็นต่างๆ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าพาหนะ ส่วนการใช้จ่ายตามคุณภาพ คือ ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพรวมกับค่าใช้จ่ายในการชำระที่อยู่อาศัย เงินทำบุญ ทอดกฐินและผ้าป่า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง เป็นต้น


[1] ที่มาจาก: http://en.wikipedia.org/wiki/Minimum_wage

3) ค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอกับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ (แรงงานไร้ฝีมือ) ในการดำรงชีพ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็นอัตราเริ่มต้นจ้างแรงงานที่มาสมัครงานใหม่ ถึงแม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีประสบการณ์หรือทักษะฝีมือในการทำงาน ซึ่งนายจ้างบางส่วนยังใช้การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการเพิ่มค่าจ้างแรงงานแก่แรงงานเดิมอีกด้วย เพราะฉะนั้นควรมีการทำความเข้าใจในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

4) การปลดแรงงานจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน[4] ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ทำให้ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง และประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดประมาณ ร้อยละ 12 แต่ภายใน 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ มาอยู่ในระดับ ร้อยละ 25 ทำให้ในปัจจุบันจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นและจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาการปลดแรงงานบางส่วนเป็นจำนวนไม่มาก และจะมีผลกระทบเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากแรงงานจะสามารถหางานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันอัตราการว่างงาน[5] ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยอัตราการว่างงานของโลกอยู่ในระดับร้อยละ 8 9

5) ค่าจ้างแรงงานต้องมีการเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้างต้น นายจ้างต้องทำการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน เพื่อดึงดูดแรงงานมาทำงาน ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว และในอนาคตประเทศไทยคงจะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการยังจะคอยหวังพึ่งแรงงานราคาถูกเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างชาติคงเป็นไปไม่ได้ ผู้ประกอบการควรหาทางลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แทนที่จะกดค่าจ้างเพื่อลดต้นทุนในการผลิต

6) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยปกติพิจารณาจาก อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นการปรับตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตัวชี้วัดตาม (Lagging Indicator) ของอัตราเงินเฟ้อ[6] หาใช่การเป็นตัวชี้วัดนำ (Leading Indicator) เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการโปรดเห็นใจ อย่าเอาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาสินค้า

ดังนั้นจากเหตุผลข้างต้นคงชี้ให้เห็นว่าการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสมควรที่จะดำเนินการ แต่จะสามารถปรับได้ตามนโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนขอเสนอหลักการในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
1)      การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ควรปรับแบบก้าวกระโดด ถึงแม้มีนักวิชาการหลายท่านเสนอว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ควรทำการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรทำการปรับเป็น 300 บาท/วันในทันทีทันใด แต่ผู้เขียนคิดว่าสามารถทำได้ในบางจังหวัด เนื่องจากเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยในปี 2542-2553 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ต่อปี ขณะที่ Nominal GDP เติบโตโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.8 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ให้ความเป็นธรรมที่แท้จริงกับแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะสามารถลดช่องว่างระหว่างความจนความรวย (Income Gap: Rich-Poor) ได้อย่างรวดเร็วและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
2)  การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด จะส่งผลกระทบใหญ่เพียงครั้งเดียว การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลกระทบซ้ำซ้อนทั้งการปลดลดจำนวนแรงงานและการปรับตัวของราคาสินค้า แต่การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระทบจะส่งผลกระทบเพียงครั้งเดียวและสภาพเศรษฐกิจต่างๆจะสามารถกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อจะปรับเพียงครั้งเดียวจาก ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น (Cost-Push Inflation) อีกทั้งผู้ประกอบการไม่สามารถใช้ข้ออ้างต้นทุนสูงขึ้นในการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด เพราะถ้าผู้ผลิตผลักภาระของต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งหมดไปที่ผู้บริโภค ความต้องการบริโภคสินค้านั้นคงลดลง[7] การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปจะทำให้ผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสเพิ่มราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องจนอาจจะเกินราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
3)  การปรับค้าจ้างขั้นต่ำควรปรับในอัตราการเพิ่มค่าจ้างที่เท่ากันทุกจังหวัด เนื่องจากค่าครองชีพของแรงงานในแต่ละพื้นที่จังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งแรกไม่สามารถปรับให้อยู่ในระดับที่เท่ากันหมดทุกจังหวัดได้ เพราะจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากจังหวัดที่ค่าครองชีพสูงไปสู่จังหวัดที่ค่าครองชีพต่ำ การปรับค่าจ้างควรเลือกปรับในอัตราการเพิ่มเป็นร้อยละที่เท่ากันทุกจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร จาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน คิดเป็นอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 ดังนั้นจังหวัดอื่นๆควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นที่อัตราร้อยละ 40 เช่นเดียวกัน
4)   ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่มากอย่างที่คิด จากการศึกษาโครงการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของ SMEs ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของ SMEs เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ดังนั้นสมมติว่าปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.16 เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไม่ควรปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น
5)  ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สามารถทดแทนด้วยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากการที่ต้นทุนเพิ่มจากการปรับอัตราค่าจ้างไม่มากอย่างที่คิด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเพิ่มในอัตราที่เท่ากัน ดังนั้นสมมติว่าทุกจังหวัดปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราร้อยละ 40 (ตามอัตราปรับค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็น 300 บาท/วัน) จะทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ซึ่งจากการที่รัฐบาลจะมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 23 ทำให้ส่วนลดของภาษีเงินได้ร้อยละ 7 มีค่ามากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเพียงร้อยละ 6.5
6)  การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรทำควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพแรงงาน การที่แรงงานจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นนั้น แรงงานควรจะพัฒนาศักยภาพให้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ดังนั้นประเทศควรเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน[8] เพื่อจะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุดอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)
7)  หลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดครั้งแรก ควรปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการกำหนดอัตราการเพิ่มและระยะเวลา การปรับอัตราค่าจ้างแบบก้าวกระโดดในครั้งแรกจะทำให้เกิด shock ในตลาดด้านการเพิ่มต้นทุนการผลิตจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึงระดับ 300บาท/วัน ให้ได้ทั่วทั้งประเทศ ควรทำการแจ้งระยะเวลาและอัตราการเพิ่มว่าจะเพิ่มในอัตราเท่าไร ภายในระยะเวลาเท่าไร เพื่อลดการ shock ในตลาด และผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในอนาคต
8)  การทำการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาค (Tripartite Committee) เป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ และรักษาผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆฝ่าย โดยนายจ้างต้องให้ความเป็นธรรมและเห็นใจลูกจ้าง ลูกจ้างต้องเพิ่มศักยภาพในการทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิตแก่นายจ้าง รัฐบาลต้องให้การช่วยเหลือนายจ้าง โดยการออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนที่สูงขึ้นที่นายจ้างต้องแบกรับ และออกมาตรการสนับสนุนหรือโครงการอบรมต่างๆให้แก่ลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพแรงงาน


[8] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  ทำไมต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน?” และ ทำไมต้องพัฒนาศักยภาพแรงงาน?” ในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2554 ตามลำดับ



หลังจากทำตามหลักการที่ได้กล่าวมาข้างต้น หน่วยงานภาครัฐต่างๆต้องร่วมมือกันทำงานในด้านการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ควบคุมการไหลข้าวของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพแรงงาน ฯลฯ ซึ่งถ้าทุกฝ่ายร่วมมือ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันสามารถเกิดขึ้นได้ ช่องว่างระหว่างความจนความรวยจะสามารถลดลงได้

 กองวิจัยตลาดแรงงานยังมีเอกสารและงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจอีกมากมาย ท่านใดที่สนใจสามารถเข้ามาดูได้ที่ http://lmi.doe.go.th/



[6] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ค่าแรงกับอัตราเงินเฟ้อ ในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำเดือนมิถุนายน 2553


[5] จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2554 ปรากฏว่ามีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 0.4 คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 1.63 แสนคน จากกำลังแรงงานทั้งหมดประมาณ 39.12 ล้านคน และอัตราการว่างงานของโลกในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 8.7 จาก The World Factbook, Central Intelligence Agencies (CIA)


[4] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  วิกฤตการณ์การขาดแคลนแรงงานของไทย สถานการณ์ที่สวนกระแสโลก และ วิกฤตการณ์การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาที่มีทางแก้ ในวารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ประจำเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 ตามลำดับ


[3] ที่มาจาก: http://www.ilo.org/public/english/support/lib/resource/subject/salary.htm