วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สร้างจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ

สร้างจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ

สวัสดีครับ เมื่อสองสามวันก่อนผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับการทำ SWOT Analysis หรือการวิเคราะห์ตนเอง มาช่วยผู้ประกอบการ SME ให้ได้วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจตัวเอง รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่ตนเองเผชิญอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จในธุรกิจ หรือฝ่าฟันปัญหาทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องประสบปัญหาทางธุรกิจจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

หลังจากได้อ่านบทความนี้ ผมคิดได้ว่าวิธีการทำ SWOT Analysis สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพี่น้องแรงงานไทยได้โดยง่าย และเป็นวิธีการที่ดีที่สามารถช่วยแรงงานไทยกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว ได้มีโอกาสที่จะวิเคราะห์ จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง อีกทั้งสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน เพื่อที่พี่น้องแรงงานไทยจะสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือได้เลือกอาชีพสายงานที่ท่านจะสามารถทำงานได้ดีและประสบความสำเร็จในอนาคต เมื่อท่านสามารถวิเคราะห์ตนเองและรู้จุดมุ่งหมายของตนเอง ท่านย่อมสามารถประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเร็วกว่าผู้อื่นซึ่งต้องใช้เวลาในการเสี่ยงทดลองงานเพื่อจะรู้ตัวตนที่แท้จริงว่าตัวเขาเองมีความสามารถและถนัดงานในด้านใด อย่าลืมนะครับการเริ่มต้นที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง


ผมว่าเรามาเริ่มการทำ SWOT Analysis ตัวเราเองเลยดีกว่า การทำ SWOT ก็คือการวิเคราะห์ตัวเอง ในเรื่อง จุดแข็ง, จุดอ่อน, โอกาส และแนวโน้มเชิงลบ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์หาแนวทาง หรือหนทางดำเนินการที่เหมาะสมกับลักษณะ หรือศักยภาพของบุคคลนั้นๆทั้งในปัจจุบัน และเพื่อวางแผนในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น บุคคลคนหนึ่งที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีจุดแข็งคือความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ที่คล่องแคล่วและรวดเร็วกว่าผู้อื่น แต่มีข้อเสียหรือจุดอ่อนคือไม่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้าบุคคลผู้นี้ไม่สามารถวิเคราะห์ตนเองได้ บุคคลคนนี้อาจจะได้ทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัด และทำงานได้ประสิทธิภาพไม่เท่าผู้อื่นในตำแหน่งเดียวกัน ถ้าบุคคลผู้นี้สามารถเสริมจุดแข็ง และกำจัดจุดอ่อนของตนเองได้ และสามารถได้ตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถของตน บุคคลผู้นี้จะสามารถเจริญก้าวหน้าทางการงานและประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน


ส่วนโอกาสและแนวโน้มเชิงลบ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่บุคคลผู้นี้สามารถแสวงหาโอกาสของตนเองและป้องกันแนวโน้มเชิงลบได้ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลผู้นี้อาจเดินยื่นใบสมัครงานโดยตนเอง แต่บุคคลนี้สามารถเพิ่มโอกาสตนเองได้โดยติดต่อกับกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ประสานงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ได้ตำแหน่งงานที่เหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถป้องกันแนวโน้มเชิงลบจากการศึกษาวารสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางานเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการว่าจ้างงานของตลาดแรงงาน ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ตัวเราเองได้ นั่นย่อมเป็นข้อได้เปรียบแก่ตัวเราในการที่เราจะประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงาน

ถึงตอนนี้เราควรจะรู้เทคนิคในการทำ SWOT Analysis เพื่อทุกๆท่านสามารถเริมทำการวิเคราะห์ตนเองนะครับ

1. วิเคราะห์จุดแข็งของคุณ: ใช้เทคนิคในการตั้งคำถาม และมองย้อนกลับไปในอดีต ยกตัวอย่างเช่น
• สิ่งใดที่คุณคิดว่าคุณสามารถทำได้ดีที่สุด
• เมื่อคุณได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งใดคุณสามารถทำได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงาน
• เทคนิคหรือประสบการณ์ที่ท่านคิดว่าท่านคิดว่าท่านมีมากกว่าคนอื่น
• อะไรคือสิ่งที่ท่านรักและสามารถทำได้สม่ำเสมอ
• คุณมีความสุขกับงานที่คุณปฏิบัติอยู่ หรือไม่
• คุณสามารถฝากอนาคตกับงานที่คุณปฏิบัติอยู่ หรือไม่
• และอื่นๆ


2. วิเคราะห์จุดอ่อนของคุณ: ใช้เทคนิคเดียวกันกับการวิเคราะห์จุดแข็ง ยกตัวอย่างเช่น
• สิ่งใดที่คุณคิดว่าคุณทำได้แย่ที่สุด
• งานอะไรที่คุณทำได้ช้ากว่าผู้อื่น และไม่สามารถเสร็จได้ตามกำหนด
• เมื่อเวลาคุณปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งใดที่คุณมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน
• เมื่อเวลาคุณปฏิบัติงาน สิ่งใดที่คุณคิดว่าคุณยังขาดอยู่ จึงทำให้ผลลัพธ์ของงานที่ปฏิบัติไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ
• สิ่งใดคือข้อบกพร่องของคุณเวลาคุณปฏิบัติงาน
• และอื่นๆ


3. วิเคราะห์โอกาสในการทำงาน: ยกตัวอย่างเช่น
• ข่าวสารที่มีส่วนช่วยกับงานที่ปฏิบัติ หรือกับงานที่หาอยู่
• ตรวจสอบความต้องการแรงงานในสายอาชีพของคุณ
• เทคโนโลยี เทคนิคหรือวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้คุณปฏิบัติงานได้รวดเร็วขึ้น และถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
• คุณมีเครือข่าย หรือความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนหน้าที่การงานของคุณ
• แนวโน้ม หรือภาวะเศรษฐกิจที่ดีที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของคุณ
• การอบรมหรือการศึกษาที่สามารถเสริมจุดแข็ง และกำจัดจุดอ่อนของคุณ
• และอื่นๆ


4. วิเคราะห์แนวโน้มที่จะมาคุกคามการทำงานของคุณ: ยกตัวอย่างเช่น
• แนวโน้ม หรือภาวะเศรษฐกิจที่มีผลเสียกระทบต่ออาชีพการงานของคุณ
• ตรวจสอบอัตราการว่างงานในสายอาชีพของคุณ
• ความต้องการแรงงานในสายที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ ที่สามารถทดแทนอาชีพการทำงานของคุณ
• สิ่งที่ทำให้คุณค่าการทำงานของคุณด้อยลง หรือประสิทธิภาพในการทำงานของคุณลดลง
• และอื่นๆ

หลังจากคุณได้ทำการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาสและสิ่งที่คุกคามอาชีพการงานของคุณ คุณควรนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนแผนการปรับปรุงการทำงานและอาชีพของคุณ คุณควรหาวิธีที่จะเสริมจุดแข็งของคุณ และลดหรือกำจัดจุดอ่อนของคุณ โดยการศึกษาอบรม หรือค้นคว้าหาเทคนิคหรือวิธีการใหม่ๆ หรือคอยหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์มากกว่า ส่วนโอกาสนั้น คุณควรแสวงหาโอกาสของตัวคุณเอง จากการศึกษาข่าวสาร ข้อมูลและเหตุการณ์สถานการณ์การจ้างงาน ซึ่งกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้แจกวารสารข่าวสารตลาดแรงงาน และสถานการณ์ตลาดแรงงานประจำทุกๆเดือนให้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน อย่าลืมนะครับว่าเราต้องวิ่งเข้าหาโอกาส ไม่ใช่รอโอกาสวิ่งเข้าหาเรา ส่วนแนวโน้มที่คุกคามการทำงาน ท่านต้องศึกษาเพื่อเตรียมการป้องกัน และแก้ไข เราสามารถสร้างวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างงานได้เช่นกัน แต่ท่านต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์นั้นๆ ทางกองวิจัยตลาดแรงงานได้ทำเอกสารแจกเกี่ยวกับภาวการณ์ว่างงานเช่นกัน หากท่านใดหรือหน่วยงานใดสนใจ สามารถขอรับเอกสารได้ที่ กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ถนนมิตรไมตรี กรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2246 7870 หรือติดต่อที่ http://www.doe.go.th/lmi_new

ไม่ยากใช่ไหมครับในการทำ SWOT Analysis ท่านสามารถนำวิธีนี้ไปช่วยในการวิเคราะห์การทำงานของท่านเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงใช้ในการวิเคราะห์เชิงธุรกิจได้เช่นกัน หวังว่าบทความนี้สามารถช่วยพี่น้องแรงงานได้ ไม่มากก็น้อย ไว้เจอกันฉบับหน้านะครับ

ลงในวารสารข่าวสารตลาดแรงงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น