วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทำไมต้องพัฒนาศักยภาพแรงงาน?

ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่มีผลกระทบทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ เป็นอย่างมาก โดยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงมีทั้งการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่สำคัญ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1) การปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจโลกแบบหลายศูนย์กลาง โดยมีการรวมตัวของกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558, ASEAN+3 (อาเซียน บวก จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือ EAFTA : East Asia Free Trade Area), ASEAN+6 (อาเซียน บวก จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หรือ CEPEA: Comprehensive Economic Partnership in East Asia) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP)


2) การเปลี่ยนแปลงกฎ กติกาใหม่ของโลก เนื่องจากมีการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ และภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการบริหารการจัดการต่างๆ โดยครอบคลุมถึง กฎ ระเบียบด้านการค้าการลงทุน การเงิน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบด้านสังคม โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า และบริการ รวมถึงการเคลื่อนย้ายคนในระหว่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น

3) การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) โดยในปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จนอาจกล่าวได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุในโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 81.86 ล้านคน ส่วนประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีประชากรผู้สูงอายุในสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั้งประเทศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผลต่อการเคลื่อนย้ายกำลังคนระหว่างประเทศ และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตจากการใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive) เป็นการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน

4) การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากอุณหภูมิของโลกนั้นสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง รวมถึงสึนามิ ทำให้ระบบนิเวศอ่อนแอ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและธัญญาหารของทั่วประเทศทั่วโลก จึงมีแนวโน้มว่าเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และอาจเกิดวิกฤตราคาอาหารโลก (World Food Price Crisis) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก

จากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม การเมือง และเทคโนโลยีของประเทศ ดังนั้น “การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงาน” ถือเป็นแนวทางส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ประเทศต้องเผชิญ เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรร่วมมือช่วยกัน เนื่องจากในอนาคตจะมีการเปิดประเทศเสรีมากขึ้น ซึ่งแรงงานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะมีการเคลื่อนย้ายเสรี ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะกำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ (Free Flow of Skilled Labour) แต่ในอนาคตข้อจำกัดต่างๆในการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีจะลดลง ทำให้โลกเปรียบเสมือนตลาดการค้าและฐานการผลิตที่สำคัญตลาดหนึ่ง ดังนั้นแรงงานของไทยควรพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนให้ประเทศต้องทำการพัฒนาศักยภาพแรงงาน การที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง และประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดประมาณ ร้อยละ 12 แต่ภายใน 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ มาอยู่ในระดับ ร้อยละ 25 ซึ่งตรงกันข้ามกับสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 15 ปีลงมา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของแรงงานในอนาคตที่จะมีสัดส่วนลดลงจาก ร้อยละ 25 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 14 ในอีก 20 ปี ส่วนสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานจะมีการลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 65 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 61 ภายใน 20 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้แรงงานใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถทดแทนแรงงานผู้สูงอายุที่กำลังจะออกจากตลาดแรงงาน

การพัฒนาศักยภาพแรงงานเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุดอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรหันมาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

กองวิจัยตลาดแรงงานยังมีเอกสารและงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจอีกมากมาย ท่านใดที่สนใจสามารถเข้ามาดูได้ที่ http://lmi.doe.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น